
พฤติกรรมเอาแต่ใจของลูกรัก มีพื้นฐานมาจากอารมณ์ และปัจจัยภายนอกหลายประการ แต่พฤติกรรมเหล่านี้สามารถป้องกันและจัดการได้ ไปดูกันเลยค่ะ
1.หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกรัก
คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตพฤติกรรมที่ลูกมักแสดงออกอยู่ประจำ และไม่ปล่อยให้ลูกทำนิสัยก้าวร้าว หรือแสดงอาการไม่พอใจ เช่น ส่งเสียงกรีดร้อง โยนข้าวของ หรือทุบตีตั้งแต่เล็กๆ เพราะเมื่อเขาโตขึ้นมาจะเกิดความเคยชิน จนทำให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นควรเข้าไปพูดกับลูกด้วยเหตุผลอย่างนุ่มนวล ไม่ใช้ถ้อยคำเชิงตำหนิติเตียนที่รุนแรงเกินไป
2.หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ในบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่พูดคุย หรือแสดงอารมณ์ไม่พอใจด้วยถ้อยคำหยาบคาย และการลงไม้ลงมือ เพราะเด็กๆจะจดจำภาพเหล่านั้นเอาไว้ ถึงแม้จะทะเลาะกันก็ต้องพูดกันด้วยเหตุผล เลือกใช้คำที่อ่อนหวาน สุภาพ
3.สอนเรื่องการวางตัวทั้งที่บ้าน และสถานที่ภายนอก
พยายามพูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่าพฤติกรรมไหนที่ควร หรือไม่ควรทำ ทั้งที่บ้าน และในที่สาธารณะ วิธีง่ายๆคือให้ทำข้อตกลงก่อนออกไปข้างนอก เช่น ถ้าลูกอยากได้ของชิ้นไหน ต้องไม่ร้องไห้ หรือส่งเสียงโวยวาย แต่ให้บอกถึงความจำเป็นกับคุณพ่อคุณแม่แทนค่ะ และถ้าไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ก็มีสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ซื้อของชิ้นนั้น
4.สอนให้ลูกรู้จักเคารพผู้อื่น
ต้องสอนให้เขารู้ว่าไม่มีใครชอบการถูกพูดคำไม่ดีใส่ และแสดงอาการไม่พอใจด้วยการทำนิสัยแย่ๆด้วยกันทั้งนั้น ให้ลองถามลูกว่า ถ้าแม่ดุหนูว่า ลูกทำตัวไม่น่ารัก จะลงโทษด้วยการตี หนูชอบไหม ถ้าลูกตอบว่า ไม่ชอบ ก็ให้สอนลูกว่าคนอื่นก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน และห้ามให้ลูกใช้ถ้อยคำกราดเกรี้ยวใส่คุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ
5.ชมเชยลูกบ่อยๆหากลูกทำตัวน่าชื่นชม
หากลูกประพฤติตัวดี โดยเฉพาะเวลาที่ลูกเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ และมีเหตุผล อาจจะให้ของขวัญชิ้นเล็กๆกับลูกเพื่อตอบแทนที่เขาทำตัวดี ลูกจะได้เข้าใจว่าหากเป็นเด็กที่น่ารัก จะได้ทั้งคำชื่นชม และของขวัญ ซึ่งต่างจากพฤติกรรมกราดเกรี้ยวที่มีแต่ผลเสีย
ความรักในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่อการแสดงออกถึงพฤติกรรมทางอารมณ์ของลูกได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างให้บ้านเป็นพื้นที่ที่อบอุ่น ปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสม ทำให้ลูกเป็นเด็กที่ฉลาดทางอารมณ์ สามารถรับรู้และแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับวัยและสังคมได้อย่างมีความสุขค่ะ